ฮิตไทต์ (2,000 - 1,200 ปีก่อนคริสตกาล) ของ ประวัติศาสตร์อานาโตเลีย

ฮิตไทต์เป็นชนเชื้อสายอินโด-ยูโรเปียน สันนิษฐานกันว่าอพยพเข้ามายังอานาโตเลียจากทางยุโรป โดยผ่านทางคอเคซัสหรือบอลข่านในราวปี 2000 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรฮัตไตกำลังเสื่อมอำนาจลง เมื่อได้เข้ามายังอานาโตเลียแล้ว ชาวฮิตไทต์ได้รับเอาวัฒนธรรมของชาวฮัตไตมาใช้ แม้แต่ชื่อของประเทศหรือดินแดนที่ชาวฮิตไทต์อาศัยก็ยังใช้ชื่อดั้งเดิมที่ชาวฮัตไตใช้เรียกชื่อประเทศตน “The land of Hatti” ชาวฮิตไทต์เป็นชนกลุ่มแรกในอานาโตเลียที่สามารถสร้างจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่และเป็นปึกแผ่นในดินแดนแห่งนี้ อาณาจักรฮิตไทต์ได้เจริญรุ่งเรืองแผ่ขยายอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอานาโตเลีย และยังสามารถขยายดินแดนออกไปได้ไกลถึงเมโสโปเตเมีย การรุกรานของฮิตไทต์ต่ออาณาจักรบาบิโลนในเมโสโปเตเมียได้นำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักรบาบิโลน ชาวฮิตไทต์ได้รับเอาวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา และระบบกฎหมายของบาบิโลนมาใช้

อาณาจักรฮิตไทต์เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในราวปี 1380 - 1346 ก่อนคริสตกาล ในรัชสมัยพระเจ้า Suppiluliumas ที่ 1 อาณาจักรฮิตไทต์กลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่เทียบเคียงได้กับอาณาจักรอียิปต์ การแข่งขันกันในการแผ่ขยายอำนาจของอาณาจักรทั้งสองได้นำไปสู่สงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือดินแดนคาเดช ในปี 1274 ก่อนคริสตกาล ในรัชสมัยของพระเจ้า Muwattalis แห่งอาณาจักรฮิตไทต์ และฟาโรห์รามเสสที่ 1 แห่งอาณาจักรอียิปต์ สงครามในครั้งนี้ปรากฏว่า ไม่มีฝ่ายใดสามารถเอาชนะได้อย่างเด็ดขาด สงครามจึงยุติลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาแห่งคาเดช (Treaty of Kadesh) ในปี 1269 ก่อนคริสตกาล

สนธิสัญญาแห่งคาเดช เป็นสนธิสัญญาสันติภาพที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา เนื้อหาสำคัญกล่าวถึงการสงบศึกและการแลกเปลี่ยนเชลยศึก สนธิสัญญาฉบับนี้ได้ถูกจารึกในภาษาอัคคาเดียน (Akkadian) ซึ่งเป็นภาษาสากลในยุคนั้น สนธิสัญญาตัวจริงฉบับของฮิตไทต์ เชื่อกันว่า จารึกลงบนแผ่นเงิน ปัจจุบันยังหาไม่พบ แต่ได้มีการค้นพบสำเนาของจริง จารึกลงบนแผ่นดินเหนียว (Cuneiform Tablet) ค้นพบเมื่อปี 1906 ที่เมืองฮัตตูซา ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของฮิตไทต์ สนธิสัญญาสันติภาพแห่งคาเดช ฉบับสำเนาของจริงปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะตะวันออก (Museum of Orient Art) ในพระราชวังทอปกาปี นครอิสตันบูล สนธิสัญญาฉบับของอียิปต์ถูกจารึกลงบนผนังวิหารแห่งหนึ่งในประเทศอียิปต์ องค์การสหประชาชาติได้จำลองสนธิสัญญาฉบับนี้ประดับไว้ที่ทางเข้าอาคารสำนักงานองค์การสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก

ภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพดังกล่าว พระเจ้า Hattusilis ที่ 3 ของฮิตไทต์ ได้ส่งพระราชธิดามาอภิเษกสมรสกับฟาโรห์รามเสสที่ 2 แห่งอียิปต์ อาณาจักรฮิตไทต์และอียิปต์จึงอยู่ร่วมกันอย่างสันติเรื่อยมาเกือบ 50 ปี จนถึงในราวปี 1190 ก่อนคริสตกาลอาณาจักร ฮิตไทต์ถูกโจมตีโดย“ชาวทะเล” (Sea Peoples) ซึ่งเชื่อกันว่ามาจากแถบทะเลอีเจียน เมืองฮัตตูซ่า เมืองหลวงของฮิตไทต์ ถูกทำลายพร้อมกันการล่มสลายของอาณาจักรฮิตไทต์ เรื่องราวเกี่ยวกับอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเทียบรัศมีกับอียิปต์และบาบิโลนได้ถูกลบเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ จนกระทั่งในปี 1906 ได้มีการขุดค้นพบคลังเอกสารของกษัตริย์ฮิตไทต์ ที่เมืองฮัตตูซ่า อดีตอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรฮิตไทต์จึงได้ถูกเปิดเผยให้ชาวโลกได้รับทราบ นักโบราณคดีต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี จึงสามารถอ่านจารึกแผ่นดินเหนียวภาษาฮิตไทต์ (Hittite Tablet) ได้สำเร็จ (แต่ไม่ทั้งหมด)

ในปี 1987 องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเมืองฮัตตูซาเป็นมรดกโลก เมืองฮัตตูซ่าตั้งอยู่บนยอดเขาที่เต็มไปด้วยโขดหิน ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นวัสดุสำคัญในการก่อสร้างเมืองของชาวฮิตไทต์ ชาวฮิตไทต์มีความเชื่องในเรื่องเทพเจ้าหลายองค์ เมืองหลวงของฮิตไทต์จึงเต็มไปด้วยวิหารที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่เทพเจ้าต่างๆ เมืองฮัตตูซ่าล้อมรอบไปด้วยกำแพงยาวถึง 6 กิโลเมตร ในสมัยที่ยังรุ่งเรืองเมืองฮัตตูซ่าคงจะเป็นเมืองที่ใหญ่มากเมืองหนึ่งในสมัยเมือง 3,000 ปีที่แล้วชาวฮิตไทต์คงจะเป็นชนชาติที่เก่งในด้านการสงครามมากกว่าในด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม เพราะร่องรอยที่หลงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ค่อยจะมีอะไรที่บ่งบอกถึงความวิจิตรงดงามในทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมมากนัก เปรียบเทียบไม่ได้เลยกับอียิปต์ ซึ่งเคยเป็นคู่อริของฮิตไทต์

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย